ประวัติ เขื่อนขุนด่านปราการชล
เขื่อนขุนด่านปราการชล
จังหวัดนครนายก ตั้งอยู่ในภาคกลางซึ่งถือเป็นแหล่งผลิตอาหารสำคัญของประเทศ แต่ด้วยลักษณะภูมิประเทศที่ประกอบด้วยหุบเขาแคบ พื้นที่ลาดชัน และที่ราบกว้างใหญ่ ในช่วงฤดูฝนจะเกิดน้ำไหลบ่ารุนแรง เข้าท่วมพื้นที่ไร่นาและบ้านเรือนของประชาชน จนได้รับความเสียหายเป็นบริเวณกว้าง
น้ำที่ไหลหลากลงมานั้น ท่วมขังอยู่ในบริเวณพื้นที่ต่ำ ขณะเดียวกันพื้นที่ส่วนที่เป็นพื้นที่ลาดชัน มีระดับน้ำใต้ดินต่ำ ไม่สามารถเก็บกักน้ำไว้ได้เมื่อฝนทิ้งช่วงจึงเกิดความแห้งแล้ง จนดินแตกระแหงไม่สามารถทำการเพาะปลูกได้
ด้วยสภาพปัญหาที่เกิดขึ้นในพื้นที่บริเวณลุ่มน้ำนครนายกยาวนาน อันได้แก่ น้ำท่วม น้ำแล้ง และดินเปรี้ยว ส่งผลกระทบต่อการเกษตร โดยเฉพาะการปลูกข้าวอันเป็นอาชีพหลักของชาวนครนายกมาเป็นเวลาช้านาน และยังทำความเสียหายแก่สภาพทางเศรษฐกิจของจังหวัดนครนายกอย่างมาก
ตลอดระยะเวลา ที่ผ่านมา ได้มีความพยายามแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยการสร้างระบบชลประทานประเภทและขนาดต่าง ๆ แต่ระบบชลประทานทั้งหมดเหล่านั้นก็ยังไม่เพียงพอที่จะช่วยขจัดความเดือดร้อนเรื่อง “น้ำ” ให้หมดไปจากพื้นที่ลุ่มน้ำนครนายกได้
นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณของ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้ทรงมีต่อชาวนครนายกจากการที่ได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมราษฎรและได้พระราชทานพระราชดำริให้มีการก่อสร้างแหล่งเก็บกักน้ำหลายแห่งครั้นเมื่อเมืองนครนายกขยายตัวแหล่งที่มีอยู่ไม่เพียงพอที่จะหล่อเลี้ยงพื้นที่ในลุ่มน้ำนครนายกได้ต่อมาจึงได้พระราชทานแนวพระราชดำริให้มีการก่อสร้างเขื่อนเก็บกักน้ำขนาดใหญ่ขึ้นในพื้นที่จังหวัดนครนายก
วันที่ 4 ธันวาคม 2536 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้พระราชทาน พระราชดำริ ให้กรมชลประทานพิจารณาวาง โครงการและก่อสร้างเขื่อนขุนด่านปราการชล
คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบให้ดำเนินโครงการเขื่อนขุนด่านปราการชล เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2539 โดยอนุมัติการก่อสร้างระหว่าง พ.ศ. 2540 ถึง พ.ศ. 2546 ในวงเงิน 10,193 ล้านบาท และอนุมัติแผนปฏิบัติการป้องกันแก้ไข และติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อมโครงการฯ พร้อมอนุมัติงบประมาณปี 2540 ถึง 2551 ในวงเงิน 990 ล้านบาท เริ่มดำเนินงานก่อสร้างในวันที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2542 เสร็จในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2547 และเริ่มเก็บกักน้ำในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2548
เขื่อนขุนด่านปราการชล จะเป็นแหล่งน้ำขนาดใหญ่ที่สามารถเก็บกักและจัดสรรน้ำอย่างเป็นระบบให้แก่พื้นที่เกษตรกรรวม 185,000 ไร่ ทำให้เกษตรกรได้รับผลประโยชน์กว่า 9,000 ครัวเรือน และเมื่อสามารถไขปัญหาน้ำท่วมสลับกับความแห้งแล้งลงได้แล้วก็จะช่วยลดปัญหาดินเปรี้ยวไปได้ในที่สุด
น้ำจากอ่างเก็บน้ำเขื่อนขุนด่านปราการชล ยังเป็นแหล่งน้ำดิบสำหรับการผลิตน้ำประปา และการปล่อยน้ำจากเขื่อนจะช่วยผลักดันน้ำเค็มที่จะรุกเข้าสู่แหล่งแหล่งน้ำธรรมชาติในช่วงฤดูแล้งได้ นอกจากนี้ยังเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ปลาและแหล่ง แหล่งประมงน้ำจืดขนาดใหญ่ เพื่อเพิ่มรายได้ให้ราษฎรได้อีกทางหนึ่ง
นอกจากการตอบสนองความต้องการใช้น้ำในภาคการเกษตรแล้ว เขื่อนขุนด่านปราการชลจะเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญแห่งใหม่ ของจังหวัดนครนายกที่ดึงดูดให้นักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาชมความยิ่งใหญ่ของเขื่อน รวมถึงทำกิจกรรมนันทนาการ ต่าง ๆ รอบบริเวณพื้นที่เขื่อน โดยเฉพาะการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ อาทิ การเดินป่าท่องไพร การล่องเรือสู่น้ำตกเหวนรก การเล่นกีฬาทางน้ำที่ใกล้ชิดกับธรรมชาติ เช่น เรือใบ วินด์เซิร์ฟ พายเรือคยัค
นอกจากนี้ยังมีการจัดพิพิธภัณฑ์เขื่อนขุนด่านปราการชล เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้ศึกษาค้นคว้าเรื่องราวและประวัติที่น่าสนใจของการพัฒนาแหล่งน้ำและเขื่อนขุนด่านปราการชล แม้การก่อสร้างเขื่อนจะสำเร็จตามวัตถุประสงค์แล้ว หากแต่ภารกิจของกรมชลประทานและหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องยังคงต้องดำเนินต่อไป เพื่อความกินดีอยู่ดีของประชาชนด้วยเหตุน้ำจังหวัดนครนายก
จึงได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการดำเนินการส่งเสริมและพัฒนาอาชีพพื้นที่รับน้ำเขื่อนขุนด่านปราการชล โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสนองพระราชดำริ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในการพัฒนาการเกษตรและพัฒนาคุณภาพชีวิตของราษฎรให้มั่นคงผาสุก
บัดนี้ เขื่อนขุนด่านปราการชล ได้สำเร็จเป็นรูปธรรมชัดเจนแล้ว ด้วยพระมหากรุณาธิคุณและพระบารมีของ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่ได้พระราชทานแนวพระราชดำริในการพัฒนาแหล่งน้ำของจังหวัดนครนายก รวมถึงความร่วมมือร่วมใจของผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งภาคราชการและเอกชน ยังผลให้เกิดความเจริญก้าวหน้าในการดำรงชีวิตอย่างยั่งยืนสืบไป